พระครูวิมลปัญญาคุณ

พระครูวิมลปัญญาคุณ

แบ่งเบาภาระของชาติด้วยการให้ศึกษา ด้วยการสร้างคนดีสู่สังคม

โรงเรียนศรีแสงธรรม สร้างคนจากแสงแดด และแสงแห่งธรรม

 

มนุษย์ทุกคนล้วนมีคำถามให้กับตัวเอง

คำถามที่นำไปสู่เส้นทางของชีวิตที่เลือกเดิน

คำถามที่นำไปสู่หนทางพิสูจน์คุณค่าของชีวิต

คำถามนั้นก่อตัวขึ้นมาจากอะไร

ภาวะของบุคคลพร้อมมากแค่ไหนที่จะชี้ทางให้กับตัวเอง

 

ในห้วงแห่งความสับสนวุ่นวาย

ในภาวะที่ปัจจัยภายนอกมีอิทธิพลอย่างสูง

ในสังคมที่วัตถุมีพลังดึงดูดอย่างสูงให้คนเราพุ่งเข้าใส่

 

สิ่งใดจะเป็นฐานสู่การเปิดป้อนคำถาม

สิ่งใดจะเป็นฐานในการอธิบายทุกสรรพสิ่ง

 

สิ่งใดจะเป็นองค์ประกอบเพื่อนำพาเราสู่แก่นแท้การศึกษา

แล้วการศึกษาแบบไหนที่จะนำพาเราไปสู่อิสรภาพแห่งชีวิต

 

เพื่อให้เราได้หลุดพ้น เพื่อให้เราได้บรรลุ

เพื่อให้ได้พบคุณค่าของการมีชีวิตอยู่และสุดท้ายในวันที่ต้องจากไป

พระครูวิมลปัญญาคุณ โรงเรียนศรีแสงธรรม

พระครูวิมลปัญญาคุณ สำรวจที่สร้างโรงเรียนศรีแสงธรรม

พระครูวิมลปัญญาคุณ ได้เมตตาเล่าให้ฟังถึงเมื่อครั้งที่ก่อนจะบวชเป็นพระ ในวัย 22 ปี ท่านมีคำถามที่นำไปสู่หนทางของชีวิต จนเกิดการพากเพียรปฏิบัติและสร้างคนดีสู่สังคม

“เกิดคำถามน่าสงสัยว่า คนเราทำไมต้องหาเงินกันมาก เค้าหาแล้วจะหาไปทำไม พระไม่มีเงินแล้วอยู่ได้ยังไง ญาติกันเป็นพระ เป็นพระทางธรรมยุติ ไม่ถือเงิน ไม่รับเงิน ไม่จับเงิน อ้าว…เขาถวายเงินไม่จับเงิน แล้วเค้าอยู่ได้ยังไง

มาทำงาน เราหาเงิน เรามีเงินแต่เราทำไมไม่หยุด ไม่พอ หรือว่าไม่เห็นมีความสุขกับการกำเงินเลย แล้วคนที่ไม่มีเงินเค้าจะมีความสุขไหม อันนี้สนใจ คิดๆ อยู่ เป็นเรื่องของเงินกับความสุข เรื่องสุข-เรื่องทุกข์

ก็ไม่เข้าใจว่า คนจะหาเงินไปทำไม จะเอาเงินไปทำอะไร ได้เงินแล้วอะไรต่อ  มันได้อะไรต่อมา  ตอนนั้นยังเป็นเด็ก คิดต่อไม่เป็นว่า พอได้เงินแล้วมันจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร

สงสัยว่าชีวิต แก่นสารของคนคืออะไร ทำไมเราเหมือนคนไร้สาระ ไร้แก่นสาร แก่นสารของชีวิตจริงๆ แล้วคืออะไร ใครคือแก่นสารของชีวิต ชีวิตคืออะไรของคนๆ หนึ่ง อะไรคือแก่นสารของชีวิต

เงินเหรอ ?คนที่ไม่เงินเค้ายังอยู่ได้ เค้ายังมีสาระ มีแก่นสารกว่าเรา แสดงว่าเงินไม่ใช่คำตอบ

เลยตัดสินใจมาเยี่ยมญาติที่บวชเป็นพระที่ร้อยเอ็ด ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ศรีมหาวีโร เขาทำวัตรก็ไปทำวัตรกับเขา ไปลงสวดมนต์ทำวัตร”

พระพลังแดด

พระครูผู้สร้างโรงเรียนพลังงานทดแทน

ตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวช ?

 

“ยังไม่บวช แต่ไปฝึกทำวัตร ไปอ่านหนังสือ เขาสวดมนต์ก็ไปสวด ไปเจอบทสวดนึง บทบอกว่า “เรามีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นด้วยผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึงอาศัย เราจะทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะเป็นทายาท คือว่าจักต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป”ทุกอย่างเป็นไปด้วยกรรม เป็นไปด้วยการกระทำทั้งหมด

ใครเป็นคนเขียนบทนี้ คือมันตรึงใจ ใครเขียนบทสวดนี้ เป็นเหตุเป็นผล น่าสนใจก็เลยขอบวชได้ไหม คือฟังแบบนี้ ที่เรามาเจอกันเพราะกรรม เพราะกรรมเราเคยทำร่วมกัน  อันที่เกิดสิ่งนี้เพราะสิ่งนี้ เกิดอันนี้เพราะสิ่งนี้ ถ้าไม่มีสิ่งที่หนึ่ง ก็ไม่มีสิ่งที่สอง ถ้าไม่มีสิ่งที่สองก็ไม่มีสิ่งที่หนึ่ง มันเป็นเหตุเป็นผล

คือมันเป็นสัจธรรมของโลก มันเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ตอนแรกเข้าใจว่าพระนี่ต้องสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า อ้อนวอนพระรัตนตรัย พระนั่นพระนี่ ไม่ใช่นะ ไอ้สิ่งที่เราคิดตอนเป็นเด็ก กับสิ่งที่เราเจอวันไปเยี่ยมเนี่ย ไม่ใช่เลย มันเป็นเหตุผล ผลกลับมาเหตุ เหตุกลับไปผล แบบนี้มันก็น่าศึกษา ถ้าเป็นแบบนี้น่าศึกษา”

 

การบวช จึงน่าจะเป็นการบวชเพื่อที่จะบรรลุถึงธรรมะ เพื่อคำสอน เพื่อการศึกษา ไม่ใช่บวชเพื่อที่ชีวิตใครจะดีขึ้น แล้วตอนนั้นท่านไปวัดนอกจากบทสวดแล้วท่านค้นพบอะไรท่านได้บวชเลยหรือเปล่า?

 

“ใช่ๆ  เรื่องแบบนั้นอาตมาเชื่อว่าเป็นสิ่งงมงายที่ไปขอพร ขอหวยตามต้นไม้ ขอโชคขอลาภเนี่ย ตอนแรกเข้าใจว่าพระกับอันนั้นเป็นอย่างนั้น พอมาเจอไม่ใช่ ก็เลยเปลี่ยนความคิดใหม่ น่าสนใจ ขอบวชเลยได้ไหม พิธีบวช พิธีกรรม พิธีการบางทีต้องมี ต้องให้ผู้ปกครองมามอบอำนาจ เราก็ไม่พร้อม ไปคนเดียวขอบวชเลยเขาก็เลยไม่ให้บวช ให้กลับไปก่อน คือถ้ายังไม่มั่นใจก็กลับไปก่อน ก็เลยกลับ

กลับมาอยู่กับชีวิตเดิมๆ อยู่กับเพื่อน อยู่กับที่ทำงาน ยิ่งเจอเพื่อนเล่นยาเสพติด เล่นอะไร ติดคุกกันระนาว ยิ่งแบบนี้ ยิ่งทำให้คิดว่าถ้าบวชตอนนั้น จะไม่เจอสิ่งเหล่านี้เลยเกิดความเบื่อหน่ายเข้าไปอีก เกิดเอือมระอาเข้าไปอีก ชีวิตมันไร้แก่นสารขนาดนี้เลยนะ คือโชคดีแค่ไหนที่ไม่ตามเข้าไปอยู่ในคุก”

นักเรียนได้เรียนรู้จริง.jpg

พลังงานกับวิถีชีวิตไปด้วยกัน

แสดงว่าในตอนนั้นสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวท่านก็หนักหนาอยู่เหมือนกัน รุนแรงแค่ไหน ตีรันฟันแทง เหล้ายา ท่านหลงเข้าไปข้องเกี่ยวด้วยไหม ?

“อาตมาไม่ชอบ อาตมาชอบเล่นกีฬา ชอบเตะบอล ชอบเตะตะกร้อ ชอบเล่นดนตรี เล่นกีฬา ก็สนุกไป ถามว่ากินเหล้าไหม เคยไปกับเพื่อนตอนเข้าโรงเรียนด้วยกัน เขาก็ชวนกันกินเหล้าตามประสาวัยรุ่น ม.4ม.5 ก็ไปถามมันไม่ผิดศีลเหรอ เขาก็ไล่หนี เพราะเราไม่กินเหล้า เรากลัวผิดศีล

เราเป็นเด็ก ไปโรงเรียน เขาจะให้ท่องศีล 5ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่ผิดประเวณี ไม่โกหก ไม่กินเหล้า ก็กลัวบาป แล้วกินเหล้ามันไม่บาปเหรอ เพื่อนก็บอก “ถ้ามึงคิดแบบนี้มึงก็ไปไกลๆ เลย” ใจมันค้านปฏิเสธพวกอบายมุขอยู่แล้วมันก็เลยไม่เข้าไปตรงนั้น

ชีวิตมันไร้สาระมาก ก็ไม่รู้ว่าบวชดีกว่าไหม แต่สภาพความเป็นอยู่คือ มันเห็นประจักษ์  เห็นชัดเจน ไม่มีสิ่งที่เป็นสาระกับชีวิต ไม่ว่าตัวเขา ดูจากเขาแล้วมาเทียบกับเรา เราก็ไม่ได้ต่างจากเขา เขาก็ไม่ได้ต่างจากเรา ไม่ได้ดีกว่านี้แน่นอน

กลับมาก็ขอบวชเลย พาพ่อมามอบอำนาจให้หน่อย คือไม่ต้องสงสัย คือมอบอำนาจเลย บวชเลย”

ช่วงแรกของการบวชเป็นไงบ้าง จากที่เราอยากบวชกับการได้บวชจริง การอยู่ในวัด การต้องอยู่ในระเบียบที่มากกว่าศีล 5อยู่ในกฎ ต้องปฏิบัติ ท่านค้นพบอะไร ทางที่ท่านเลือกนำท่านไปสู่อะไร?

“มาบวชช่วงแรก ความต่างของกฎระเบียบอะไร กฎระเบียบของศีล ต่างแต่ว่าหนักใจไหม คือว่าฝืนไหม มันไม่ฝืน มันปกติ ถ้าเราผิดปกติคือเราผิดศีล ถ้าเราผิดกฎระเบียบมันคือผิดศีล

ที่ค้นพบคืออันนั้นนี้ก็น่าเรียนรู้ น่าทำ น่าศึกษา การธุดงค์ ทำทำไม ทำไมต้องทำวัตร ทำไมต้องธุดงค์ สิ่งที่ผิดปกติ ใจเราค้านคือผิดศีลทันที นั่นคือปกติกศีล ศีลทำให้คนเราเป็นปกติ สิ่งที่ผิดปกติคือสิ่งที่ผิดปกติที่ทำให้สิ่งที่ผิดศีลกลายเป็นสิ่งปกติ”

พระครูวิมลปัญญาคุณ

พระครูวิมลปัญญาคุณ

คำถามของท่านก่อนบวชทำให้ท่านเลือกทางของชีวิต ถ้าใช้ภาษาบ้าน คือ ท่านมาถูกทางแล้ว ?

“ก็อาจจะใช่ก็ได้ ตอนนั้นคือไม่ได้ซีเรียส บวชก็บวช  ท่านอย่ายืนกิน อย่ายืนฉัน อย่าวิ่ง ก็เป็นปกติของคนธรรมดาทั่วไป ถ้าวิ่งคือผิดปกติ คือจริยะวัตร การไปการมา ส่วนศีลอื่นๆ ก็บังคับ ผิดบ้าง ถูกบ้าง มันก็มีล่วงละเมิด เจตนา-ไม่เจตนา มีให้ในศีลที่แบ่งเป็นชั้นๆไว้

ศีลหนัก ศีลกลาง ศีลเบา ศีลละเอียด ไม่จารึกใน 227ข้อ ศีลละเอียดขึ้นไป เรายิ่งศึกษามาก กลายเป็น 227 เป็นศีลหยาบไปเลย ศีลละเอียดคือขั้นละเอียดที่ไม่ลงในแบบปฎิบัติ อันนั้นเกี่ยวกับความเป็นอยู่มันมีปัญหา  ฉันมื้อเดียวก็ไม่มีปัญหา เรื่องสภาวะความเป็นอยู่ไม่ได้มีปัญหากับเรา แต่การมาบวชใหม่ความอยากจะรู้มาก ความอยากรู้มีมาก”

เป็นการได้เข้ามาอีกสู่โลกหนึ่งที่ จริงๆ เราอยากเข้ามาเพื่อหาคำอธิบายชีวิต พอได้เข้ามาได้เห็นทางเราจึงอยากเรียนรู้มากขึ้น ?

“อ่านหนังสือเยอะมาก อ่านไปอ่านมา หลวงปู่บอกไม่ให้อ่าน อาจารย์บอกไม่ให้อ่าน อ่านมากไม่ใช่ปัญญาแต่เป็นความรู้ เป็น memmoryไม่ใช่ wisdomไม่ใช่ปัญญา คนที่ฉลาดทางสมองไม่ใช่ฉลาดทางจิตไม่ได้เรียกว่าปัญญา ปัญญาทางนี้ไม่ใช่ แต่ถ้าไม่อ่านแล้วจะรู้ได้ยังไง ก็สงสัยแต่ก็ไม่เถียง สิ่งที่ควรจะดูให้มากคือศีล คือพระวินัยขั้นละเอียดขึ้นไปอีก ยิ่งจิตละเอียดวินัยก็ยิ่งละเอียดขึ้นไปอีก ศีลก็ยิ่งละเอียดขึ้นไปอีก อันนี้น่าศึกษาต่อไป”

 

คนเป็นพระมีความภาคภูมิใจไหม ที่เราผ่านขั้นหนึ่งขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงขั้นละเอียด ?

 

“ความภูมิใจอยู่บ้าง แต่เป็นกิเลส ความเป็นหลง ศาสนาพุทธ พระเนี่ย เอาเรื่องจิตมาพูด เอาเรื่องนามมาพูดเป็นรูป สิ่งที่เราเกิด ความโกรธ ความรัก คนเขารู้แค่นั้น แต่ศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าดึงมา โกรธเนี่ยคือจิตที่ปรุงขึ้นมาด้วยกิเลสตัวนึง

กิเลสมี โลภ โกรธ หลง มีอยู่ 3ตอน

โลภ เรารู้ว่าโลภ คนเห็นแก่ตัว ก็จะอยู่กลุ่มเดียวกัน เอาเปรียบสังคม คนโลภ เกิดการแตกแขนงไป เกิดการฉ้อโกง คอรัปชัน การนั่น การนี่ มันก็อยู่ในหมวดโลภ โกรธ อิจฉาริษยา  พยาบาทอะไรพวกนี้ คือ อธิบายได้ว่าเป็นแบบนี้ๆ ที่จริงมันเป็นอาการของจิต ของแต่ละคน ของแต่ละบุคคล ของแต่ละศาสตร์ เอามาอธิบายเป็นฟอร์มๆ ยิ่งน่าศึกษามาก”

 

รู้เท่าทันตัวเอง อย่างนั้นไหมครับ มีคนเคยบอกว่าที่เราไม่รู้เท่าทันตัวเอง ที่เราปล่อยให้จิตฟุ้งซ่าน กระจาย เพราะเราอธิบายไม่ถูกว่ามันคือ  อะไร ?

“ตัวเองทำเองมันก็เป็นเหมือนกันนะ  อธิบายง่าย เกลือมันเค็ม เขาเขียนว่ามันเค็มเราก็รู้ แต่เราจะไม่มีทางรู้ว่าเค็มอย่างไร”

คนที่จะทำอะไรตอนนี้ ต้องมีพื้นฐานบางอย่างมาก่อน ได้ประเด็นของท่านก่อนบวช และการแสวงหาในการปฎิบัติ ?

 

“พอแสวงหาก็ได้แนวมาด้วย การพึ่งพาตนเอง ได้แนวมาเลย ทุกอย่างใช้เป็นประโยชน์ได้หมดเลย ได้แนวการจัดการธรรมชาติ  หลวงปู่พาปลูกป่า ทำสระ ทำป่า ทำดิน มันได้แนวมา ท่านก็ไม่ได้สอน ท่านพาทำนั่น ทำนี่

ตอนแรกอยู่วัดป่าสุขสมบูรณ์ ต.คำนาดี อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด เป็นวัดหลวงปู่ศรีมหาวีโร หลวงปู่พาทำก็ไปช่วยงาน พาทำเจดีย์ใหญ่ ที่ผาน้ำย้อย เป็นองค์สูงๆ เอาดินขึ้นมาปั๊มกัน พระกับโยมช่วยกัน จนเสร็จ นี่คือการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ใช้ดินตรงนั้นมาทำดินตรงนี้

คือพระใหม่ต้องอยู่กับครูอาจารย์ เลยต้องอยู่ที่นั่น 5 พรรษา แนวทางการใช้ทรัพยากร ตอนนั้นไม่รู้ มีแต่ทำอย่างเดียว ท่านพาทำก็ทำ พาปลูกป่าไม้ประดู่ เต็มเลยตอนนี้ เขามาขโมยไม้พยูงที่ไปปลูกตอนบวช มีคนมาขโมยตัดไม้พยูง พยูงใหญ่มาก 10 – 20กว่าปีแล้ว แป๊ปเดียวโตเร็ว แล้วก็ความอดทน ความแข็งแกร่งอะไรพวกนี้ มันสร้างคนมากจากการบวช การธุดงค์ ไปคนเดียว จะไปไหนก็ไป อยากไปไหนก็ไป ไปในที่ๆ ไม่มีคน นอนไหนก็นอน

ธุดงค์จากร้อยเอ็ด มุกดาหาร สกลนคร ไปเรื่อยๆ ตามสันเขาตามแนวเขา ไปตามเทือกเขาภูพาน ไปเรื่อยจนสุดอุดรแล้วก็กลับ ที่ไหนพอไปอยู่แล้วมันชิน มันไม่กลัวก็ไปใหม่ ถ้ามันกลัวจิตใจมันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะไม่ส่งออกไปหาคนนั้นคนนี้ ตอนนี้คนฟุ้งซ่าน เมื่อก่อนมันออกทางจิตเดี๋ยวนี้เขาส่งทางเฟสบุ๊ค เมื่อก่อนมันไม่มี เมื่อก่อนอยู่กับตัวเอง อยู่กับร่างกาย ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตอนเป็นเด็กอะไร เป็นยังไง เนื้อหนังมังสาเป็นยังไง แก่มาเป็นยังไง มันจะเร็วขึ้น เร็วขึ้นไปเรื่อยๆ

การธุดงค์คือ การพยายามเข้าถึงตัวเองให้มากที่สุดการธุดงค์เป็นหนทางอย่างง่าย แต่ใช้ร่างกายแลกมาเยอะ ไม่มันง่าย ทำให้เห็นอะไรได้มากที่สุด ทำให้เห็นทุกข์ คนเราปกติถ้าอยู่สุขสบาย อะไรมีพร้อมมันจะไม่แสวงหาทางออก มันจะหลงอยู่ตรงนั้น พอมันเห็นทุกข์ มันจะเห็นว่าถ้าไม่ติดอยู่ในถ้ำ ก็ไม่หาทางออก ถ้าไม่คิดว่าตัวเองถูกครอบไว้ ถ้ำมันแคบ น้ำมันจะดันให้ตาย ต้องหาทางออก

แต่ถ้าเราอยู่สิ่งที่ครอบเราอยู่ โลกที่ครอบเราอยู่มันกว้างใหญ่ไพศาลสำหรับเรา ไปไหนก็อิสระเสรี แต่จริงๆแล้วมันครอบเราอยู่ความเกิดก็ครอบเรา ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ความแก่ก็ครอบเรา ครอบทุกวัน ความตายก็ครอบเราแล้วหนีไม่พ้นมัน คนหนึ่งก็ครอบเรา เราคิดว่ามันไกล มันไม่เหมือนน้ำที่ท่วมถ้ำขึ้นมา มันมาเร็ว และต้องเอาตัวรอดให้ได้ แต่นี่มันสบาย ไม่ต้องเอาตัวรอดก็สบาย มันไม่เห็นทุกข์ ทุกข์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าไม่มี มีแต่ความสนุก สุขสบาย

 แต่ธุดงค์เห็นทุกข์ ทุกข์มากด้วย ทุกข์ทางกาย แล้วมาสอนทางใจให้เห็นว่าเกิดมามีทุกข์ ยากลำบาก เห็นข้างนอกแล้วเมื่อมาดูข้างใน เห็นคนอื่นแล้วมาดูตัวเอง เห็นสภาพความเป็นไปของธรรมชาติ ของคนแก่ๆ มาทำงานเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ทุกข์การหาอยู่หากิน การทำไร่ทำนา ยิ่งไปเจอชาวบ้านที่ทุกข์ยากลำบาก มันทำให้ตัวเอง คือถ้าเราไม่ผ่านไป ไม่หยุดก็ต้องเป็นแบบนี้ เหมือนคนๆนี้ เหมือนตาคนนี้ เหมือนลุงคนนี้ เค้าเรียกว่าเอามาสอนตัวเอง หาทางพ้นทุกข์ เพื่อจะหาเส้นทางออก หาทางออก”

solar monk.jpg

พระครูวิมลปัญญาคุณ หรือ Solar monk

นั่นคือ 5 ปีแรกที่ท่านบวช แล้วพอปฏิบัติแล้วธุดงค์แล้ว อะไรคือ หนทางสู่การพ้นทุกข์ของท่าน ท่านใช้วิธีไหน ?

 

“ก็ปฎิบัติไปเรื่อยๆ คือมันไม่ได้บอกว่าถึงเมื่อไหร่ จะหยุดเมื่อไหร่ เหมือนเราขุดสระลงไป ขุดน้ำลงไป ขุดบ่อลงไป ถ้ามันถึงตาน้ำก็บอกว่าถึง ถ้ามันไม่ถึงก็ขุดไปเรื่อยๆ ความเพียรก็เหมือนกัน ปฎิบัติก็เหมือนกัน ก็ต้องไปจนถึง”

นั่นคือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของท่าน กับความเพียร กับหนทางที่ท่านได้ปฏิบัติ แล้วไปต่อยอดด้วยอะไรท่านถึงได้เริ่มทำเรื่องของการศึกษาและพลังงานทดแทน   ?

“สิ่งที่จะทำให้เปลี่ยนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ โครงการผ้าป่าช่วยชาติ ของหลวงตามหาบัว ตั้งแต่ปี 44 – 46 เป็นลูกศิษย์หลวงตามหาบัว หลวงปู่ศรีฯ เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น อยู่ร่วมจำพรรษากับหลวงตามหาบัว เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน พอหลวงตามหาบัวทำอะไร หลวงปู่ศรีก็ไปช่วยทำอันนั้น ลูกศิษย์ก็ไปช่วยครูบาอาจารย์ อันนี้ก็ได้มาอีก

คำว่าศิษย์ช่วยครูบาอาจารย์ คือการแบ่งเบาภาระครูบาอาจารย์อันนี้ติดมาเลยนะ เป็นคำขอ นิสัยเวลาเราไปขออยู่ ข้าพเจ้าขอแบ่งเบาภาระของพระเถระ พระเถระย่อมเป็นภาระเกี่ยวกับข้าพเจ้า คือต้องเป็น ขอให้เมตตาสั่งสอน ให้ดูแลด้วย แต่งานของท่าน ข้าพเจ้าขอรับเอาขอแบ่งเบามาช่วย แต่งานของท่านคือต้องช่วยดูแลข้าพเจ้าด้วย ขอฝากให้ท่านดูแลข้าพเจ้าด้วย

มันติดมาเลย คำว่าแบ่งเบาภาระพระเถระ เป็นงานของหลวงปู่ศรีที่ไปช่วยหลวงตา เราเป็นลูกศิษย์เราต้องไปช่วยครูบาอาจารย์ เราเป็นลูกศิษย์หลวงตา เราต้องไปช่วยครูบาอาจารย์ แบ่งเบาภาระ มันเป็นงานของท่าน เราก็ไปช่วยท่าน”

ท่านก็มีครูดี ก็ตามครูไป ได้แบ่งเบาภาระของพระอาจารย์ ได้เรียนรู้ ได้ฝึก ได้ปฎิบัติ ได้ช่วยชาติ ?

“ก็ดี อันนี้ก็ติดมาเลย นำมาสู่เรื่องของการช่วยชาติ ทีนี้วัดนี้ไม่มีเจ้าอาวาส ท่านก็ส่งมาอยู่ที่นี่ (วัดป่าศรีแสงธรรม บานดงดิบ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี) คือจะเร่ร่อนทำไม ไปอยู่วัดก่อน ไปเฝ้าวัดให้หน่อย ที่นี่มันกันดารมาก มันไกลมาก ไม่มีใครมา มันไกลจากครูบาอาจารย์ มีคนอยากสร้างวัดถวายที่ดิน

บริจาคอาคารเรียน

งบประมาณ 18 ล้านบาท จากเงินบริจาค

ก็เนื่องมาจากโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ก็เลยมีคนถวายที่ดิน คนนั้นเขาเป็นใคร?

“เป็นคนที่ไปบวชด้วยกัน แล้วเขาสึกมา เขาไปบอกพ่อของเขา ที่ดินตรงนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราจะเก็บไว้ เรามาสร้างศาสนสถาน สร้างอะไรที่เป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนาได้มั้ย ให้คนทั้งโลกได้ประโยชน์ได้ไหม เขายกที่ดินผืนนี้ให้ 72 ไร่ เขาเป็นชาวบ้าน เขาไม่ได้รวยอะไร”

ท่านเลยถูกส่งมาตั้งแต่วัดนี้ไม่มีเลย ?

“ใช่ มาดูแลวัด เขาพยายามที่จะสร้างกฎิ สร้างศาลาให้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของพระที่มาอยู่ คนเขาก็บวชมา เขาก็รู้ว่าพระต้องทำอะไรบ้าง เขาก็สร้างศาลาแต่ทำไม่เสร็จ อาตมามาทำให้เสร็จ ต่องานเขา”

จากที่มาสร้างวัด มาเป็นสร้างวัดและโรงเรียนได้ยังไง  ?

“ก็หลวงตามหาบัวมารับผ้าป่าทองคำช่วยชาติที่นี่ ปี 2546เดือนมีนาคม แล้วซื้อทองคำช่วยชาติ ท่านไปประมาณ  9 กิโล มีเงินผ้าป่า กฐิน แต่ละปีที่วัดจะซื้อทองคำช่วยชาติ ไม่ทำอะไรด้วย งานที่เราทำคือปลูกป่า ขุดสระ เอาดินไปถม แล้วปลูกป่าขึ้น การทำฝายชะลอน้ำ ทำแนวปรัชญาพอเพียง ธารน้ำมันไหลไปดักตรงนั้นแล้วขุดสระ ข้ามเป็นชั้นๆ ลงมา ทำเป็นฝายแม้วลงมา แล้วปลูกป่า พื้นเมืองก็ไม่ต้องดูแลมาก มันอยู่ได้ พอปลูกป่า ขุดสระ ให้ทุนการศึกษา สร้างสถานีวิทยุ

โครงการช่วยชาติปิดตัวลง ท่านไม่รับต่อ แต่เงินเราได้เท่าเดิม ได้ปีละครั้ง ท่านก็เลย อะไรที่เราจะทำประโยชน์ขึ้นมาอีก พอคิดว่าเป็นโรงเรียน ก็ทำต่อ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นโรงเรียน เพราะมันต่อยอดจากทุนการศึกษาเด็กทุกปี ปีนึงให้หลายแสน แล้วทำให้ได้คนไม่กี่คน แต่ถ้าเราให้เท่าเดิม มีเงินงบประมาณสนับสนุนรายหัวจากภาครัฐน่าจะได้หลายคน ก็เลยหันมาทำโรงเรียน

เหตุผลที่สนับสนุนต่อไปก็คือ เราอยากจะช่วยชาติสิ่งที่เราจะทำเนี่ย ต้องเป็นการช่วยชาติด้วย การช่วยชาติคือ การสร้างคนดีเข้าสู่สังคม ลดภาระประเทศชาติเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลการจัดสรรงบประมาณมานั่น มานี่ มันก็เหมือนแบ่งเบาภาระครูบาอาจารย์ นี่แบ่งเบาภาระประเทศชาติก็เป็นการช่วยชาติอย่างนึง สร้างคนดีเข้าสู่สังคมลดภาระของประเทศชาติ

คนดีถ้าเก่งก็จะดีขึ้นไปอีกสองเท่า ถ้าให้วิชาความรู้เข้าไป ทั้งดีและเก่ง และมีคุณธรรม ก็ใช่ ก็เลยทำเหตุผลสนับสนุนอีกก็คือตัวเองไม่ได้เรียนหนังสือ เรียนไม่จบ พ่อแม่แยกทางกัน ไม่มีคนส่งเรียน อยากเรียนใจจะขาดไม่ได้เรียน ถ้าเด็กอยากจะเรียนมันต้องได้เรียน ไม่อยากให้เด็กที่อยากเรียนต้องขาดโอกาสเหมือนตัวเอง”

 

แล้วประเด็นเรื่องของพลังงาน วิชาพลังงานทดแทน ?

พอมาเป็นโรงเรียน เงินทุกบาททุกสตางค์ ไม่มีเลยเกลี้ยงหมด ได้แต่อาคาร กับโต๊ะ เก้าอี้ คิดจะเอาอะไรมาสอน คิดก็ไม่ได้ ตัวเองก็ไม่ได้เรียน ตั้งต้นง่ายๆ ให้เรียนวิทยาศาสตร์ก่อน วิทยาศาสตร์มันใกล้ตัว เอาดิน เอาน้ำ เอาลม มาสอนก็สอนได้ทำนามา 8ปี ด้วยกล้าต้นเดียว เอาแปลงวิจัยนา ก็จำลองให้เด็กดูว่า การเจริญเติบโตของกล้าต้นเดียว สองต้น สามต้น ทำเป็นสองชุด ทำเป็นสิบสองบ่อ ก็ทำแล้วเก็บข้อมูลไว้”

ตอนนี้มีคนพูดถึงการศึกษาด้วยพื้นฐานของชุมชน ท่านทำมานานแล้ว  

“มันเป็นวิทยาศาสตร์ เดินเข้าไปในป่า ขีดพื้นที่ 1 ตารางเมตร เขียนต้นไม้มีอะไรบ้าง เขียนลงไปยังไม่จบเลยนะ  สิ่งมีชีวิตบนฟ้ามีอะไรบ้าง เกิดอะไรขึ้น ทำๆ เป็นวิทยาศาสตร์ มันน่าจะเข้ากับวิถีชีวิตได้มากที่สุดคือวิทยาศาสตร์ ถ้าเรียนภาษาจีน เยอรมัน อังกฤษ ใครจะมาสอน เอาไปใช้อะไร เด็กบ้านเรามันไม่ได้ใช้อะไร”

50082553_1123850711072862_6955817071947022336_n

ไฟฉายขอข้าว

แสดงว่าเรียนรู้มาจากรอบๆ ชุมชนของเรา จากต้นทุนเดิมด้วยวิถีชุมชนและธรรมชาติ?

 

“ก็มีการแข่งขันนั่นนี่ ก็ไม่รู้จะไปแข่งกับเขายังไง ไม่รู้เรื่องการแข่งขัน ประกวด งานเด็ก โครงงานเด็ก เราก็เอาแสงแดดมาสอนสอนยังไง เอาแดดมาหุงข้าว ใส่กระบอกพลาสติก ใส่กระบอกอลูมิเนียม หุงกลางแดด สร้างตู้อบขึ้นมาแล้วอบตรงนั้นตากแดดไว้ ตอนเที่ยงเนี่ยได้กินไหม  ตอนเช้าตากไว้ ตอนเที่ยงร้อนพอดี สุกพอดี ก็ไปแข่งเขา ก็ใช้ได้แต่ไม่ชนะ

ก็เอา ม.ต้นไปอีก เอาแผ่นโซล่าเซลล์แตกที่มันทิ้งอยู่เถียงไร่ เถียงนาที่รัฐบาลเขาแจก เอามาศึกษาเซลล์มัน มาดู ศึกษาดูว่า มันมีกี่โวลต์ เราชาร์จแบตมือถือได้ไหม ทำเป็นไฟฉายได้ไหม ก็เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มัธยมเขาเรียน ม.ต้นเค้าเรียน เพราะไฟฟ้าเบื้องต้น มันมีต้นกำเนิด มีสวิตซ์ มีหลอดไฟ มีโหลด มันก็ครบวงจร อันนี้เห็นว่าดีเลยเอามาสอน ก็เริ่มเข้าสู่โซล่าเซลล์

มีคนเอาโซล่าเซลล์มาบริจาคให้ จริงๆ แล้วมีชุดที่มีแผงแผ่นนึง ตัวเองทำไบโอดีเซล ทำน้ำมัน ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เอามาทำในวัด เอาเรื่องน้ำมันมา ก็เลยทำ พอทำได้เด็กสนใจ มันเปิดไฟได้ ไปหาแบตเตอรี่เก่า มาทำมาต่อกันเล่น มาชาร์จมือถือ แล้วทำต่อเป็นไฟฉาย ก็เลยทำไฟฉายจากโซล่าเซลล์ ทีนี้คนสนใจเยอะเลยตั้งเป็นชมรม 20คน ชุมนุมโซล่าเซลล์ ก็ส่งไปประกวด ได้ที่ 1 ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ ก็เลยเปิดเป็นวิชาเรียน

วิชาโซล่าเซลล์ วิชาพลังงานทดแทน ก็เลยพาเด็กต่อไปตามจุดต่างๆ สอนแล้วก็ต่อไปเรื่อยๆ เต็มโรงเรียนเลย เต็มมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่เพราะสอนทุกวัน ก็เลยมาทุกวัน ตัวเองก็ต้องศึกษาทุกวัน อ่านทุกวัน ทำการบ้านทุกวันเพื่อจะได้สอนเป็น สอนได้ ทำไมเป็นแบบนี้ ถ้าเด็กถามแบบนี้จะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นก็ต้องถามตัวเอง ถามตอบ หาข้อมูลมา กลายเป็นทั้งปีไม่ได้ทำอะไรดูแต่โซล่าเซลล์ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ

สอนเรื่องพลังงานทดแทนมากี่ปีแล้ว มีชั้นเรียนอะไรบ้าง จบไปกี่คนแล้ว ส่งเรียนสาขาอะไร มีนักเรียนในโรงเรียนกี่คน ?

“ปีที่สองเริ่มสอน แต่โรงเรียนมีมา 8ปีแล้ว มีชั้น ม.1 ถึง ม.6 ตอนนี้มีเด็กจบมหาวิทยาลัยไปสองรุ่นแล้ว เพราะรับ แค่ ม.1 กับ ม.4   ส่งเรียนวิศวะหลายคน ปีนี้ติด 16 คน วิศวะ ม.อุบล ที่นี่ติด ม.อุบล ร้อยเปอร์เซ็นต์  มีจำนวนนักเรียน ทั้งหมด 210 คน  สอนแต่วิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กเรียนเกษตร เรียนวิทยาศาสตร์ แล้วก็วิศวกรรม

เด็กนีกเรียนก็มาจากรอบๆ หมู่บ้านแถวนี้ มีเด็กจากที่อื่นขอมาเรียนแต่ไม่มีหอพัก แต่มีแอบมาซุกไว้ในวัดก็มี2-3 คน ให้รับไว้ ก็จัดการศึกษาทุกอย่างให้ฟรี รถรับส่ง อาหารกลางวัน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้อุดหนุนงบประมาณ เราก็หามาให้ โรงเรียนอยู่ในสังกัดของการศึกษาเอกชน แต่เราเป็นการศึกษาเอกชนประเภทสงเคราะห์ เป็นการกุศล จัดการศึกษาเพื่อการกุศล

โรงเรียนนี้อยู่ด้วยการบริจาค เราบริจาคกับเป็นเรื่องๆไป ถ้าเราอยากได้ห้องคอม 8-9 ตัว อยากได้อาคาร ใครจะช่วยเทถนน 30 -50 เมตร เขาก็ให้มา พอแล้วก็หยุด ไม่รับต่อ ไม่ใช่บริจาคทั้งปีทั้งชาติมาตั้งเป็นกองทุนให้คนบริจาคเข้ามา ไม่เอา เอาทีละงาน มันก็จบง่าย แล้วก็ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องเงินทอน เงินไม่ทอน จบเป็นจ๊อบๆ ปิดเป็นจ๊อบๆ ไป”

1921139_574127766037292_988864128_o

ซิลิคอนวัลเลย์

ครูที่สอนที่นี่เป็นพนักงานประจำของโรงเรียนที่เลือกสมัครมาสอนที่นี่ มีวิชาอะไรบ้างครับ ?

“ก็เลือกมาให้ตรงเอก ครูเอกไหนก็ต้องมาสอนเอกนั้น  มีวิชาโซล่าเซลล์ เรียกว่าหลักสูตรท้องถิ่น เป็นวิชาที่โรงเรียนจัดขึ้นมาเอง ไม่ใช่กระทรวงศึกษาจัดมา กระทรวงศึกษาจัดมา 70เราจัดเอง 30 เรียกว่าหลักสูตรท้องถิ่นหลักสูตรโรงเรียนวิชาของกระทรวง 70%  วิชาวิทย์ คณิต อังกฤษ ภาษาไทย ทั่วไป วัดผลตามกระทรวงกำหนด แต่วิชาเพิ่มเติมเราใส่เอง เราก็เพิ่มเติมฟิสิกส์ เคมี ชีว คณิต อังกฤษ เพิ่มเข้าไป ฟิสิกส์ 1 ฟิสิกส์ 2เด็กเรียนถึง ฟิสิกส์ 5 นะ ม.4-ม.6”

 

มุมมองทางการศึกษาที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น กับแสงแดด กับพลังงานทดแทน ที่นี่มีคน มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมากตลอดทั้งปี ?

“สาระท้องถิ่นเป็นจุดเด่นที่เราทำได้ดี เขาน่าจะมาดูเรื่องนี้ของเรา กระทรวงศึกษาน่าจะมาดูเรา แต่คนมาดูเฉพาะโซล่าเซลล์ความเป็นจริงคือมันเป็นอิสระของการใช้หลักสูตร โซล่าเซลล์เป็นแค่ทุนอันหนึ่ง เป็นทุนอันหนึ่งที่เอามาใช้แล้วประสบความสำเร็จกับโรงเรียนนี้

เขาน่าจะมาดูเรื่องนี้แต่เขาไม่สนใจ พลังงานกิ่ง พลังงานไฟฟ้า สิ่งที่จะเป็นวันนี้คือหลักสูตร แกนกลางเขาให้มา 70 % หลักสูตรสถานศึกษา 30 % เป็นเรื่องของ area problem-based managementขึ้นมาจัดเป็นหลักสูตร เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ซึ่งจะเป็นวิชาอะไรก็ควรเป็นบริบทของชุมชนเอาไปใช้ที่ภาคใต้ไม่ได้ เอาไปใช้ในเมืองไม่ได้”

 

ต้องให้คนที่มาดูงานมาศึกษา ให้เข้าใจวิธีการจัดการศึกษาที่มาจากแก่นของชุมชน?

“ที่นี่เด่นมาก แต่เขาไม่สนใจ เขามาดูว่าโรงเรียนใช้โซล่าเซลล์ยังไง ความจริงไม่ใช่ พวกครูมาเขามาผิดประเด็น พวกผู้อำนวยการก็มา มาก็อาจมาดูว่าโรงเรียนนี้ทำยังไง บางหน่วยก็มาดูเพื่อ มากินเลี้ยง มาถ่ายรูปที่นี่แล้วเอารูปไปเบิกงบประมาณจากหลวง

 

เหมือนที่พระอาจารย์บอกว่าอย่าอ่านเยอะ เขาเอาวิชาเป็นตัวตั้งเลยมองไม่เห็นว่าหลักสูตรเป็นไง

 

ถ้าเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เด็กก็จะถูกสร้างมาในกรอบแบบนั้น แบบวิชาเป็นแท่งๆ ไม่เชื่อมโยง  ?

“ที่นี่ไม่ใช่แบบนั้น แปลงนาเราเป็นงานวิจัย ฐานการวิจัย เพื่อเป็นสื่อการศึกษาให้กับเด็ก โซล่าเซลล์ก็เป็นฐานการวิจัยเพื่อเป็นสื่อให้กับเด็ก ทำไมเขาบอกว่าความเข้มของแสงมีแค่นี้ถ้าเราเอาโซล่าเซลล์ มาเป็นทุนตัวหนึ่งมาวัดประสิทธิภาพความเข้มของแสง ที่ 13, 15, 17 องศาเป็นไง เทียบลงมากลายเป็นวิจัยอย่างดีเลย แต่ให้เด็กเรียนรู้ว่า 15 องศาตั้งยังไง ระยะห่างจากฐานหน้าไปฐานหลัง 1 เมตร ถ้ามีแผ่น 2 เมตร เสาหน้าสูงเท่าไหร่ เสาหลังสูงเท่าไหร่ ถ้ากำหนดให้เสาหน้า สูง 1เมตร เสาหลังสูงเท่าไหร่ ในระนาบ 15 องศาเด็กเขาก็จะคิดแข่งกัน คือจะหา sin cos tan คือจะเรียนไปทำไม sine cos tan ต้องเอียง 15 องศา หน้าต้องสูง 100 เซนติเมตร หลัง 127 เซนติเมตร ถึงจะได้ 25 องศา”

มันคือวิชาที่อธิบายว่า ถ้าเราจะทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่าง เราจะต้องสร้าง process อย่างไร ต้องออกแบบอย่างไร ต้องเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง ซึ่งเราก็ไม่ค่อยจะสอนกันเรื่องแบบนี้ เราถูกสอนแต่ว่าถ้าเราจะสอบผ่านเราจะต้องคิดเลขยังไง ?

“สะพานเกลือ แท่งแคโทด เอโนดเชื่อมกัน เอาสะพานเกลือเชื่อมใส่เกิดเป็นไฟฟ้าขึ้นมา เปิดเป็นกระแสไฟฟ้า แต่เราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราทำพัดลม ตั้งขึ้นมาแล้วเอาขั้วแคโทด เอโนดมาเชื่อมกัน  เทเกลือลงไป น้ำเกลือลงไป พัดลมหมุนขึ้นมาเลย ไม่ได้แค่ไฟ แต่เอาไปใช้อย่างนี้ เอาไปทำพัดลมได้”

 

ท่านเป็นนักเรียนรู้ก่อนบวช ท่านตั้งคำถาม ท่านต้องการหาทาออก ท่านเดินในทางที่พิสูจน์ว่าชีวิตเราไม่ต้องใช้เงิน จนตอนนี้ท่านก็ยังเรียนรู้ สิ่งที่ท่านทำนั้นเพื่อสิ่งใด ?

เพื่อไปสอนเด็ก ไปสร้างคน เพื่อไปจรรโลงสังคมก็ดีนะ ไอ้ความอยากรู้อยากเห็นเราเนี่ย ทำให้เราช่างสังเกต เราช่างทดลอง เราช่างนั้นนี่ กรรมาธิการมาดูงานที่นี่ พวกการไฟฟ้ามาดูสองรอบ รองประธานาธิบดีอังกอร์มาถ่ายทำ ทีวีญี่ปุ่นมา ทีวีไทยมาทำแทบทุกช่อง มาดูแล้วตื่นเต้น แต่ความจริงแล้วควรมาถามว่าทำไมเกิดอย่างนี้ขึ้นมา

กระทรวงศึกษาฯ ไม่มา มาแต่เลขาธิการ สช. มาดูสิ่งที่เราทำ แต่ให้เราไปประกวดที่นั่นที่นี่ ไม่ไปเสียเวลา ถามว่าอยากได้พวกรางวัลพวกใบประกาศไหม ถ้าให้ก็เอา ถ้าไม่ให้ก็ไม่เป็นไร เราอยากจะได้งบประมาณมากกว่า เพราะว่าไม่พอ เราทดลองนั่นทดลองนี่พัฒนาตลอดเวลา สิ่งที่เราทำ เราทำใช้ ไม่ได้ทำโชว์ แต่ว่ามีคนมาดูเราเลยโชว์ ทุกยอ่างมันจึงดูน่าสนใจเพราะเราทำใช้

ทำนา

แปลงนากล้าต้นเดียว

เป้าหมายของการสร้างการศึกษา คือหนทางทำให้เด็กได้มีอกาสได้รับการศึกษาเพื่อเอาวิชาไปบริการสังคม?

“กระบวนการคิด กระบวนการ ทำยังไงให้พืชใช้น้ำน้อย ทำยังไงปลูกผักให้น้ำน้อย ทำยังไงงปลูกผักไม่ใช้สารเคมี มันก็จะเป็นโจทย์ขึ้นมาเรื่อย การเกษตร ทำยังไงเราไม่ต้องเดินไปรดน้ำผัก เป็นสมาร์ทฟาร์มขึ้นมา ทำยังไงเราไม่ต้องเปิดปิดไฟเอง

ทำยังไงเราจะจัดการไฟที่มันมองไม่เห็นตัวตน แต่เรารู้ว่ามันมีพลังงานเยอะ เราจะส่งไปข้ามไปขายตึกนั้นตึ้กนี้ เรียกว่าเพียร์ทู เพียร์ การขายไฟข้ามตึก บ้านต่อบ้าน ทำยังไงเป็นเรื่อง energy mamnagement

เราไม่สนใจว่าจะทำอะไร แต่เราสนใจว่าจะทำยังไง มันเป็นวิชาตรรกะ เป็นวิชาลอจิก วิชาการคิด วิชาคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์บอกแค่ หนึ่งกับศูนย์ ถ้า If ตัวนี้เป็นหนึ่ง ผลที่ตามมาจะเกิดอะไร ถ้าผลที่ตามมาเนี่ยเหมือนที่เราคิดมันก็ขึ้นหนึ่ง คือมันจริง ถ้ามันผิดมันก็ขึ้นศูนย์ ถ้าศูนย์มันจะเป็นยังไง ดูเป้าหมาย หนึ่งต้องเป็นแบบนี้ ศูนย์ต้องเป็นแบบนี้ คิดแบบนี้ตายแน่ ถ้าจะคิดคือ  หนึ่ง ศูนย์ หนึ่ง ศูนย์ ไปเรื่อยๆ ไม่จบหรอกโลกนี้

นอกจากมันจะหยุดเอง หยุด process เองว่าแค่นี้ก่อน ….สิ่งที่ทำเป็นเรื่องของการจัดการ เป็นลอจิกอย่างดีเลย ถ้าเราลอจิกได้ เราสร้างแนว สร้างลอจิกขึ้นมา  ลอจิกหนึ่ง สอง สาม สี่ เราสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาตามนั้น ตอนนี้สอนนักเรียน ม.1 เขียนอัลกอลิทึม เรียนอัลกอลิทึม เรียนวิธีคิด เรียนแนวคิด ใช่ก็ได้ทุนสอน สอนอย่างนี้”

 

แต่ครูก็ต้องมาเล่าให้พระอาจารย์ฟังด้วยว่าสอนยังไง ?

“ตั้งโจทย์ไปว่าอัลกอลิทึม การหาคู่ การมีชีวิตคู่ การได้คู่ครอง การมีคนรัก ต้องทำอะไรบ้าง ต้องมีอะไรบ้าง ให้เด็กเขียน แต่เรามีคำตอบในใจแล้วว่า สุดท้ายมันต้องเป็นแบบนี้ มีงาน มีเงิน มีความสุข สิ่งที่ตามมามันจะเกิดอะไร เป็นอัลกอลิทึมวนๆ ไป มันมาจากไหน การงานที่ดี ความรู้ที่ดี คุณธรรมที่ดี มันถึงเกิดเป็นเนื้อคู่กับเรา ถ้าไม่ใช่ยังไงก็ไม่ใช่ มันสร้างให้เด็กคิด”

 

แล้วเวลาเด็กผิดหวังในความรัก เด็กก็จะได้รู้เป็นแนวด้วย ?

“ใช่ อันนี้ผิดเป็นแนว เป็นแบบนี้ ถ้าไม่ตรงอันนี้ก็ไม่ใช่อันนี้ คือให้มีจุดย้ำคิดบ้างว่า ไม่ใช่ตามใจ ตามกิเลสตลอด ความอยาก ตัณหา ความอยากกิเลส  อันนึงที่ตามต้องการ ความเป็นจริงเราสามารถที่มีเหตุคอยย้ำคิดให้มีเหตุผลบ้าง”

 

แล้วกิเลสก็จะนำมาซึ่งสิ่งที่หาคำมาอธิบายไม่ได้ เวลาผิดหวัง คนเลยเหมือนไม่เข้าใจความเป็นไปของโลก ?

“มันเป็นทุกข์ “อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข” การพลัดพรากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ การไม่ประสบสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์เหมือนกัน อันนี้เป็นบทสวดที่ทำให้ พูดรวมหมดเลย การพลัดพรากก็เป็นทุกข์ การพบเพื่อพลัดพราก การพบก็พรากเพราะมันเป็นอนิจจัง มันจะยึดมากไม่ได้ว่ามันเป็นจริง และต้องอยู่ด้วยกันจนชั่วฟ้าดินสลาย มันไม่ใช่”

 

เราไม่สามารถแยกความสุขออกจากความทุกข์  ?

“ไม่ได้ มันเป็นอันเดียวกัน พุทธศาสนามันเป็นเวทนา เราจะเลือกเฉพาะสุขไม่ได้ พอมันตาลปัตรมันคือทุกข์ทันที เวทนา ท่านให้น้ำหนักมันแค่เวทนา ไม่ได้ให้น้ำหนักความสุข เป็นแค่เวทนาอันนึง เป็นแค่อาการของเวทนา อาการของใจที่ ถ้าท่านเรียกว่าสุข อาการที่เศร้าหมองระทมทุกข์ เรียกว่าทุกข์ แต่นั่นคือเวทนา

เคยมีบางครั้งที่ไม่มีแรงใช่ไหม บางทีเรา มันต้องมีเหตุมากระทบเรามันถึงจะเกิด สิ่งที่จะมากระทบมาทางไหน มาทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่มันมากระทบข้างนอก ตาได้เห็น หูได้ยิน ลิ้นได้รับรส ใจสัมผัส อะไรพวกนี้มันถึงจะมีต่อไปอีก จู่ๆ จะเกิดขึ้นมามันเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีสิ่งมากระตุ้นก่อน

ตาได้เห็นก็คิดถึงเมื่อก่อน ก็จะนึกย้อนไปเลยทีนี้ อันนี้คือจุดเล็กๆ ที่เราอาจมองข้ามไป ตาเราเห็น หูเราได้ยินเสียงนกร้อง เหมือนสมัยตอนอยู่ในถ้ำ นกกาเหว่ามาร้อง จิตก็จินตนาการ จิตก็ส่งไปละ ไปรับมา  เป็นเหตุหนึ่งเพื่อกระตุ้น ทำไม ถ้าอยู่อย่างนั้น คงเป็นอย่างนี้ ซึมเศร้าไป อันนั้นคือเรื่องของจิต”

 

เรื่องของความรัก ความใคร่ ความผูกพันทำให้เรามีความรู้สึก แล้วในเรื่องของความอยากมีอยากได้ ?

ความอยากมีอยากได้ ถามว่าดีไหม ถ้าอยากไม่ดีก็ไม่ถูกอยากมันเป็นกลางๆ เราจะอยากอะไรแค่นั้นเอง ถ้าไม่อยากเลยนี่ไม่ได้เลย ไม่อยากดีอะไรเลยคือนอนรอวันตายก็ใช้ไม่ได้นะ มันต้องอยากบ้าง แต่อยากให้มันดี อย่าให้เกิดนขอบเขต ให้มีดีได้แบบไหน ดีตามธรรมนะ ไม่ใช่ดีตามใจ มันต้องมีลิมิตด้วย

พอบวชแล้วก็ไม่ได้อยากได้อะไร กินข้าวไปวันๆ นอน แต่มันก็ไม่ถูก มันใช้ไม่ได้ มันต้องอยากบรรลุธรรมมันถึงจะถูก อยากไหมก็อยาก อยากที่เป็นมรรค อยากที่เป็นทางหลุดพ้นนั้นใช้ได้ อยากที่เป็นทางเสื่อมทางต่ำนั้นใช้ไม่ได้ จะไปโทษความอยากอย่างเดียวก็ไม่ได้ อยากมันต้องมีประโยชน์”

 

ผมพูดได้ไหมว่า ระบบการศึกษาของโรงเรียนศรีแสงธรรม นักเรียนจะมีหลักยึดเหล่านี้ไว้ในใจ นักเรียนจะได้รับไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ?

“เขาเรียกว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจมากกว่า สร้างแรงบันดาลใจ มันตอบไม่ได้ เทอมนี้ ปีนี้ หรือสามปีที่อยู่ที่นี่ แต่เมื่อออกไปข้างนอก สักวันหนึ่งตอนอยู่โรงเรียนเคยทำแบบนี้ ก็ถือว่าใช้ได้ จะให้ไปต่อโซล่าเซลล์ใช้แต่ไม่มีคนใช้ที่บ้าน แต่วันที่เข้าไปในสถานการณ์ที่ไม่มีไฟ ไม่มีอะไร เราเคยเรียนโซล่าเซลล์เราก็ทำใช้ อันนี้คือใช้ได้ เพราะว่าสิ่งที่ตั้งใจทำนี่คือการเพิ่มคนดีให้กับสังคม ไม่ได้ให้แค่วิชา เพราะฉะนั้นคนดีก็จะถูกปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ลงไปด้วย ทักษะ ความรู้ ค่านิยม สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ความอยากมีอยากได้ในสิ่งที่เป็นมรรค ต้องบอกเขา ต้องอยากเข้ามหาวิทยาลัย ต้องเรียนคณะนั้น คณะนี้ ถึงจะให้ต่อ ม. 4 ที่นี่ ไม่งั้นไม่ให้เสียเวลา

 

มาเรียนต้องมีเป้าหมาย การเรียนต้องเอาอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ว่าเลื่อนลอยไปวันๆ

 

ได้ยินมาว่าจะขยายการใช้โซล่าเซลล์ไปในวัดและหน่วยงานต่างๆ?

“ขยายแนวคิด จริงๆแล้วเป็นแค่สื่ออันนึง อยากให้คนได้รับทราบว่า โซล่าเซลล์มันใช้ได้ เช่น วัดยานนาวา คนค้นคนรู้จักเขาก็อยากจะใช้ ที่โรงพยาบาลสงฆ์ 50 พรรษาไปติดให้เขา เขาก็ใช้ เขาก็ประหยัดค่าไฟไปเดือนละ 20,000 บาท เขาสมทบมา 300,000บาท ใส่เข้าไป 7 – 800,000 บาท เยอะแต่มันสร้างแรงบันดาลใจได้ มันสร้าง พื้นที่ข่าวได้ ลำพังเราจะเดินชวนคนติดตั้งโซล่าเซลล์ ไปไม่ทั่ว แต่ถ้าเรามีสื่อ มีอะไรออกมาบ้าง มันจะขึ้นมาเอง”

ฝันให้ไกล

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

ถ้าแบบนั้นโซล่าเซลล์ก็จะไปไกลกว่าวิชาการเรียนรู้ในท้องถิ่น ในโรงเรียน เรียนแล้วต้องมีเป้าหมาย ?

“เรียนแล้วต้องมีเป้าหมาย สื่อที่ทำออกไป เป็นคลิปวีดีโอ จะให้เด็กผู้หญิงทำ มันจะลบแนวคิดเก่าๆ มันต้องใช้วิศวกร มันต้องใช้คนมีความเร็วมากๆ ถึงจะทำได้ แต่โรงเรียนนี้ให้เด็กนักเรียน  ม. 1 ม. 2  ทำ มันจะลดความยากลงเยอะเลยให้เด็กทำ ทำขายไปแล้วที่เขาขนออกไปตากแดดเมื่อเช้า ตากอยู่ข้างนอก ทำเพราะว่าโครงการอาหารกลางวัน เงินไม่พอเราก็ทำนา ขายข้าวเอามาซื้อกับข้าว มันไม่พอก็ขายแผ่นโซล่าเซลล์ เป็นค่าอาหารกลางวัน

ถามว่าบางทีมันก็ไม่เหมาะกับเราที่เราเป็นพระแล้วเราจะมาค้าขาย  แต่ถ้ามองในมิติของโรงเรียนมันก็ต้องเลี้ยงตนเองได้ ก็เลยพยายามจะลบคำว่าพระออกไป ให้เป็นคำว่าโรงเรียนออกไปเพื่อไปขาย เป็นสื่อ มีตัวแทนของโรงเรียนอยู่แล้วที่ไปทำ  เพราะผู้ใหญ่เมื่อออกสื่อไปมากมันก็จะเป็น เช่น เปิดอบรมสองวัน ครั้งละ 2,500 บาท ต่อคน มันถูกนะ เพราะที่ในกรุงเทพ เค้าจัดวันละ 7-8,000 บาท ถ้าเก็บเยอะกว่านี้ไม่มีคนมาเรียน แต่ถ้าเก็บต่ำกว่านี้ เราต้องใช้คนเยอะ ทั้งกับข้าว อาหาร เลี้ยงดูทุกมื้อ คือให้ทุกอย่างเลย แล้วเรามาแบ่งเป็นกำไรรายได้ให้ครู นักเรียน ที่มาช่วยงาน ครูไม่ได้เงินเดือน นอกจากได้จากที่นี่

 

ครูที่สมัครมาสอนที่นี่บางคนก็ไม่มีงาน ก็มาหางาน บางคนก็สนใจโรงเรียน ศรัทธาโรงเรียนอย่างพวกเป็นนักศึกษาฝึกงาน ฝึกสอน จบมาแล้วมาขอทำงานที่นี่ก็ต้องอิงตำรา มีตัวชี้วัด มี KPIสำหรับนักเรียนชั้น ม. 1- 3 เรื่องนี้ต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยยกตัวอย่างของการขึ้นต้นไม้ ถ้าจบ ม.3 แล้วเด็กต้องขึ้นต้นไม้ได้3 เมตร เด็ก ม. 1 ต้องขึ้นได้ 1 2 3 เมตร ก็คือจบภาคบังคับ ถ้าจบ ม. 6 ก็ขึ้นได้6 เมตร นี่คือหลักสูตรแกนกลาง

แต่หลักสูตรท้องถิ่น วิธีการขึ้นเขาสอนมาแค่นี้ให้ปีนทีละขั้นขึ้นไปก็ถึง ก็ได้ เขาวัดจากถึง 1เมตรหรือยัง ถ้าเราทำอิสระกว่านั้น ถ้าเราพาเด็กโหนเชือกขึ้นไปเกาะที่ 1 เมตรเลยก็ง่ายกว่า ถ้าเรา expert กว่านั้น เก่งกว่านั้น ตีลังกาลงได้มั้ย เวลาลงเขาไม่ได้สอน คือมันเล่นได้หลายวิธี หลักสูตรนี้ดีมากเลย แต่เอามาใช้กับโรงเรียนเขาบอกมันยาก มันยุ่งยาก พอดีเราเข้ามาใหม่ เขาจัดหลักสูตรใหม่ เราก็จับจังหวะ มีหลักสูตรแกนกลางมาเราก็ใส่ไป หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรสถานศึกษา กับเรื่องพลังงาน กับเกษตรเป็นหลัก เราต้องบอกอัตลักษณ์ของเรา บอก Identity ถามว่ามันคืออะไร”

 

 

บางคนมองว่าวิทยาศาสตร์กับเกษตรไปด้วยกันได้อย่างไร ?

“มันคืออันเดียวกัน ตอนนี้มาหมักพืช กรดซิตริกจากธรรมชาติ หาค่า PH เพื่อจะฆ่ารา ราใบ ราน้ำหมาก ใช้กรดซิติกขนาดไหน พาเด็กทำเกษตร หมักธาตุอาหาร 16 ชนิด ออกจากใบไม้ พืช ต่างชนิดกัน หมักออกมาได้ยังไงให้ได้ 16 ชนิด ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีเพื่อให้พืช แต่เรามีธาตุอาหารพอที่จะเลี้ยงพืชตรงนี้ ก็เป็นโจทย์ ทำอย่างไรให้ทำได้ แล้วไปสู่การผลิตด้วย

การออกแบบการผลิต ปลูกผักบุ้งวันนี้ อีก 18วันได้เก็บ กี่กิโลถึงได้ผัด เมนูเรามีอะไรบ้าง เราจะกินอะไรบ้าง เศษข้าว เศษอาหารเหลือ เอามารวมกันหมักปุ๋ย หมักอีเอ็ม หมักจุลินทรีย์ ทำเป็น zero wasteได้ยังไงเรื่องของสิ่งแวดล้อม .ตอนนี้คนเริ่มสนใจ ใครเป็นต้นน้ำ เกษตรต้นน้ำ ที่มาตรงนี้ก็เลยทำพวกนั้นไป เผลอๆอาจะได้ขายของป่า เห็ดจากป่านี้เป็นยังไง หน่อไม้ป่าเป็นยังไง ขายมันหวาน เห็นโคน เห็ดละโงก เข้าชื่อไว้ ดอกผักจิ้ม จะบานช่วงนี้ ให้คุณลิสต์รายชื่อมาลงชื่อ

ในส่วนพลังงานทดแทน ขนาดกรรมาธิการฯ ต้องมาขอดู การไฟฟ้าต้องตามมาดู มีงานวิจัย มีงบมาสนับสนุนให้สองล้าน เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องของ Energy Managementเรื่องการ generateเรื่องการติดตั้ง เรื่องการผลิต เราก็ทำได้ดีอยู่แล้ว ขั้นต่อไปคือการ Storageการจัดเก็บพลังงาน ถ้าไม่จัดเก็บจะทำยังไง การManageใช้โปรแกรมเขียนขึ้นมา เปิด ปิด ไฟอัตโนมัติ ส่องดูมอนิเตอร์ ควบคุมได้ด้วย มันเหลือเก็บทำยังไง เหลือเก็บต้องเอาไปใช้ เหลือใช้ต้องเอามาเก็บ นี่คือConcept”

 

 

Concept ความพอเพียง การพึ่งพาตนเอง การลดค่าใช้จ่าย ผลิตใช้เอง เหลือก็เก็บ มีมากก็แจกจ่าย ?

“อยากสร้างให้ทั้งหมู่บ้าน ขอเป็นโมเดล สร้างเป็นSmart Gridยังเป็นฝันอยู่ มันคือที่มาของ “โรงเรียนเสียดายแดด”หรือเปล่า ? ถ้าลงหนองน้ำทำยังไง ดูคุณภาพน้ำ ดูสิ่งชีวิตว่าอยู่ได้มั้ย ถ้าเรา Folding ขึ้นมา เราจะทำระยะห่างเท่าไหร่ มันคือการศึกษา มันคือเทคโนโลยี มันคืองานวิจัย คือ นวัตกรรม พอไปใช้มันก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ก็คือ การขาย การจ้างงาน มันได้หมด”

 

ท่านครับสิ่งเหล่านี้ที่ท่านทำ ทั้งเรื่องการศึกษา การสร้างคน คือการปฎิบัติของท่านในฐานะสงฆ์ไหม ?

“ไม่ได้หนีไปจากกัน การสร้างวัดสร้างวาก็เพื่อจะสร้างคน พัฒนาคน คำภาวนาคือการพัฒนาทางจิต การพัฒนาทางกาย กายภาพ  การพัฒนาความเป็นอยู่ ก็เพื่อให้มีความสุข สร้างจิตให้มีความสุข ถ้ากายไม่มีความสุข วัดก็สร้างคนให้มีความสุขไหม สร้างให้มีควาทุกข์ไหม โรงเรียนสร้างมามีความสุขไหม เป้าหมายอันเดียวกัน คือสร้างคน

ถามว่าเป็นหลักปฏิบัติของพระไหม ก็อาจจะไม่ตรงขนาดว่าทำไมพระต้องมาเฝ้าโรงเรียน แต่เป้าหมายมันตรงไหม ท่านปฏิบัติไปเพื่ออะไร เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนอื่น เมตตาตน และเมตตาคนอื่น แบบนี้เข้าใจเอาเอง คือพระก็เรียนด้วย แต่ก็สร้างโรงเรียนด้วย คือมาวัดพระก็เทศน์ให้โยมฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ แต่เราพานักเรียนปฏิบัติ กลุ่มเป้าหมายมันต่างกัน คือเด็กกับผู้ใหญ่”

 

 

ถ้าวันนี้เด็กเข้าวัดไปฟังเทศน์แต่ไม่เข้าใจ บางทีเด็กก็ไม่ค่อยเข้าวัด แต่มาโรงเรียนนี้ ได้เรียน ได้ฝึก ได้ปฏิบัติ ได้ฟังเทศน์ ?

ตอนนี้ก็เลยให้นั่งทุกข์ นั่งสมาธิแล้วเทศน์ทุกวันตอนเช้าก่อนเข้าเรียน วัดไม่ได้เทศน์ เขามาส่งแล้วก็กลับบ้านวันละ 4-5 คน แต่นี่มาวันละ 200 คนมันได้ผลกว่า Area Problem Baseได้โฟกัสในกลุ่มนักเรียน200 คน บิณทบาตรก็ได้แค่ข้าวมากิน ได้ของมากิน ไม่ได้คน ไม่ได้จิตใจ พูดว่าวัดกับโรงเรียนมันได้นะ

แต่บางที่เขาโฟกัสไปที่รายได้ การศึกษาก็เอารายหัวเด็ก เอาเงินจากเด็ก เอาเงินสนับสนุนอุดหนุนรัฐ แต่ที่นี่รับจำกัด รับแค่ 25คนต่อปี ห้องละ 25 คน ไม่เอามากกว่านี้ แต่ละชั้นก็มีห้องเดียวมันทำให้เราลำบากขึ้น ม.ต้น มีสองห้อง ลำบากรายจ่าย รายรับมันน้อย  มันจำกัด รายจ่ายที่ต้องการเยอะ

ซึ่งบอกว่าเราอยากได้งบประมาณ ใครจะว่ายังไงก็ว่า ที่นี่ไม่ได้อยากได้ชื่อเสียงเพราะการสร้างวิชา สร้างความรู้มันต้องใช้งบประมาณเยอะ คือเงินทั้งนั้นเลย ล้มลุกคลุกคลานมา แล้วก็ผิดกฎหมายนะ วิจัยของเรามันไม่ถูก มันล้ำระเบียบเขาไป ก็เรื่องพลังงานนี่ เขาบอกไม่ได้ผิดกฎหมายไฟฟ้า ระเบียบการขอสถานที่ สิ่งที่เทคโนโลยีไป สิ่งที่ทดลอง มันผิดระเบียบไฟฟ้า เช่น เชื่อมกับการไฟฟ้า เราผลิตไฟชนกันกับการไฟฟ้า แต่เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้เขาไปไกลแล้ว แต่สิ่งที่เราทดลองมันผิดระเบียบ”

สิ่งที่ธรรมชาติให้มาพอเราเอามาใช้ประโยชน์ มาสร้างไฟฟ้า สร้างพลังงาน ทางไฟฟ้าก็บอกว่าผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย ?              

“มันไม่มีระเบียบที่มีอยู่ในประเทศไทย ประเทศอื่นมันไม่ผิด แต่ประเทศไทยไม่มีก็ถือว่าผิด ก็ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ทำเรื่องของรรถไฮโดรเจน รถเติมน้ำพวกนี้”

 

มีมหาวิทยาลัยไหนเข้ามาเพื่อขอเอาไปต่อยอด หรือให้ทุนเด็กเข้าไปเรียนต่อ หรือเพื่อทำงานวิจัย ?

“มีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอรับนักเรียนทั้งหมดที่จบที่นี่ ทำไมหลวงพ่อต้องแบกภาระประเทศชาติมากขนาดนี้ ทั้งที่สถาบันอุดมศึกษา การศึกษาของเราก็มี ตอนนี้ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) เขาก็อยากให้เป็นแกนนำนำร่อง เป็นอะไรก็ได้ เขาก็ให้เงินมา 300,000บาท แต่ถ้าสัก 3,000,000 บาทต่อปี มันน่าเป็นโรงเรียนแกนนำไปสอนคนอื่นได้ อย่างน้อยเราก็เพิ่มงาน เพิ่มคน เพิ่มครูขึ้นมาอีก”

 

 

ทั้งนี้โรงเรียนศรีแสงธรรมได้มีการเซ็น MOUร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อรับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนศรีแสงธรรมเข้าเรียนต่อ ปัจจุบันรับไปแล้ว 2 ปี โดยให้ทุนเรียนฟรีในทุกคณะ ทุกสาขาวิชา ยกเว้นคณะแพทย์กับคณะเภสัช

นับเป็นเวลา 8 ปีที่พระครูวิมลปัญญาคุณได้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม จนในวันนี้ที่นักเรียนรุ่นแรกจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ได้มีความคิดที่จะต่อยอดจากแนวทางที่พระครูวิมลปัญญาคุณได้วางเอาไว้ เมื่อการศึกษาได้สร้างคนเพื่อจะสร้างสังคม ชุมชนที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามาได้ให้ชีวิต ให้การศึกษา ให้ลืมตาอ้าปากจนมีวันนี้ได้

เมื่อเราพร้อม เราควรที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเรา เราควรจะกลับไปแบ่งเบาภาระของพระอาจารย์ สร้างคนรุ่นใหม่ สร้างการศึกษา สร้างกิจการ สร้างรายได้ สร้างการพัฒนาชุมชนบ้านเกิด พร้อมๆ กับขับเคลื่อนการขยายผลการศึกษาออกไปยังสังคมร่วมพัฒนาสังคม ร่วมพัฒนาประเทศไทย

เพราะที่ศรีแสงธรรม ที่การศึกษาคือการนำความรู้และปัญญาไปเป็นคุณให้กับสังคม

 

 

#นี่คือตัวอย่างที่ดีในการปฏิรูปสังคม (GreatReform)

#ร่วมปฏิรูปสังคมสักหนึ่งรายการ

#บ้านเมืองดีขึ้นได้ด้วยการแชร์ของคุณ

#GreatReform #GreatReformS019

#MiniReform #การศึกษา #พลังงาน #พัฒนาสังคม

#MicroReform #โรงเรียนศรีแสงธรรม #โรงเรียนพลังแสงอาทิตย์ #โรงเรียนเสียดายแดด #วิชาพลังงานทดแทน #วิชาโซล่าเซลล์

ที่มา

บทสัมภาษณ์ great reform