งานวิจัยเพอร์มาร์คัลเจอร์

เตรียมงานวิจัยพุทธอารยเกษตร

Smart Intensive Farming กำลังวางแผนร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่โคกอีโด่ยวัลเล่ย์แหล่งวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงาน และการเกษตร ซึ่งมีนวัตกรรมที่ต้องทดลอง 1) โกโก้เกษตรเพอร์มาร์คัลเจอร์แบบใช้ถ่านไปทั่วบริเวณแปลงพุทธอารยเกษตร 2)โพนผักหวานป่า ในแปลงพุทธอารยเกษตรที่เตรียมใช้นวัตกรรมการปลูกป่าแบบเพอร์มาร์คัลเจอร์ผสมผสานไปกับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และ 3) อโวคาโด้โคกอีโด่ย

ทุกแปลงทดลองจะมีกระเจียวหวานกับ ปทุมมา เสริมตามโพนรอบต้นผักหวานป่า ให้น้ำทีเดียวได้ทั้งป่า มีไผ่เป็นแนวกันลม กับไม้ยืนต้นราดเชื้อเห็ดเป็นโครงการปลูกเห็ดเจ็ดชั่วโคตรในพื้นที่ตัวอย่างทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร

การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากชุดพญาแล้งลงหนอง มีธนาคารน้ำใต้ดินเสริมความชื้นใต้ดิน และกักน้ำไว้ใช้นอกฤดูร่วมกับ หนอง คลองไส้ไก่ กับหลุมขนมครก ระบบให้น้ำจากรากไม่รดน้ำที่โคนต้นไม้เหมือนในอดีต เพราะน้ำไหลนี และระเหยไปก่อนจะซึมถึงราก ถ้าเราจ่ายตรงให้รากไม้เลยจะตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง ลดการสูญเสียไปได้อีก

Smart Intensive Farming ในแปลงพระราชทานโคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร วัดป่าศรีแสงธรรม เป็นโครงการใหญ่ในพื้นที่ร้อยกว่าไร่ เพื่อทำการทดลองวิจัยสัมมาชีพให้กับชุมชนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน ภาระหนี้สินนับวันจะสูงขึ้นนับเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง “การกู้หนี้เป็นทุกข์ในโลก” การนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่่โคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร ให้มีรายได้ในแต่ละวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายสามเดือน หกเดือน รายปี ห้าปี สิบปี ซึ่งต้องใช้สรรพกำลังภาคีเครือข่ายช่วยกัน

ขณะนี้กำลังระดมทุนบริจาคเพื่อจ่ายค่าที่ดิน และจะเป็นงบพัฒนาพื้นที่ตามบัญชาของท่านนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย มีท่านปลัดสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และอ.โก้ อ.หน่า จาก สจล เป็นหัวแรง ออกแบบและดูแล ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยังรับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่โคกอีโด่ยแห่งนี้ให้เป็น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ พุทธอารยเกษตร ให้มั่นคง และยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมบริจาค สนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเขตเศรษฐกิจพอเพียง ขออนุโมทนาขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

โคก หนอง นา วัดป่าศรีแสงธรรม

โคก หนอง นา วัดป่าศรีแสงธรรม โมเดล


การทำโคก หนอง นา ของวัดป่าศรีแสงธรรมให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และช่วยเหลือชุมชน ในยุคโควิด 19 กำลังระบาดไปทั่ว ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไป เกิด Disruption ขึ้นมาหลายอย่าง วัดจึงเป็นที่พึ่งพิงพื้นฐานอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานตั้งแต่บูรพกษัตริย์ของไทยเริ่มรวบรวมอาณาเขตมาจนถึงปัจจุบันวัดยังอยู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของสาธุชนทุกหมู่เหล่า

โครงการพระราชทานโคก หนอง นา วัดป่าศรีแสงธรรม ได้ดำเนินการต่อยอดจากการเป็นวิทยากรในฟาร์มตัวอย่างที่ศูนย์ศิลปาชีพยางน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี โดยทางวัดได้แบ่งพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่นักเรียนทำนาเป็นประจำทุกปีมาขุดเป็นโคก หนอง นา ซึ่งได้งบประมาณการขุดจากงบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 50,000 บาท และทางวัดสนับสนุนเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงขุดเพิ่มเติมอีก 300,000 บาทในเนื้อที่ 20 ไร่ ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2564 มีกิจกรรมที่นักเรียนมาช่วยพัฒนา ปลูกต้นไม้ทุกวันประมาณวันละ 50 คน

ระหว่างดำเนินการมีชาวบ้านที่อยู่รอบวัด และคนที่ได้รับผลกระทบการถูกเลิกจ้างงานช่วงโควิด 19 กลับมาจากโรงงานมาทำงานในโครงการประมาณ 23 คน ทางวัดจ้างวันละ 300 บาท นอกจากจะทำงานก่อสร้าง ทำงานเกษตรภายในวัดแล้ว ยังได้สอนการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้กับช่างเพื่อเดินสายไปติดตั้งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือรับจ้างตามโรงงานโดยมีศิษย์เก่าที่จบวิศวะไฟฟ้ากลับมาช่วยงานที่โรงเรียนเป็นทีมงานออกติดตั้งโซล่าร์เซลล์

ทางวัดป่าศรีแสงธรรมได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณ โครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (วัดป่าศรีแสงธรรม) โดยทีมช่างที่ทางวัดจ้างไว้ได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จพร้อมจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทางวัดได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์อบรมประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการที่จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 11 รุ่น ๆ ละ 100 คน ระยะเวลาการอบรม 4 วัน 5 คืน

กิจกรรมการอบรมโดยคณะครูของโรงเรียนทั้งหมดเป็นวิทยากร และมีนักเรียนเป็นผู้ช่วยวิทยากร ในช่วงที่ไม่มีการอบรมที่โรงเรียนก็จัดให้มีการเรียนการสอนเป็นชุมชุมฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน และได้บูรณาการเข้าใน 8 กลุ่มสาระวิชาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น


ล่าสุดได้ขุดแปลงโคก หนอง นา CLM พช. 15 ไร่ ภายในวัดป่าศรีแสงธรรม ได้รับการสนับสนุนจาก กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการขุดโดยทหารหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 51 อำนาจเจริญ ใช้เวลา 10 วัน และมีงบประมาณสนับสนุนจ้างแรงงานมาช่วยในแปลงอีก 8 คน เป็นเวลา 3 เดือน

เกิดเป็นโครงการพัฒนาแบบร่วมมือกัน “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียนในพื้นที่ 15 ไร่ภายในวัดป่าศรีแสงธรรม ได้ขุดบ่อน้ำจำนวน 6 บ่อ และมีบ่อน้ำเดิมของวัดอยู่กลางรวมเป็น 7 บ่อ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหิน ขุดลงลึกไม่ได้ รอบบริเวณแต่ละบ่อมีไม้ผลเป็นหลักมีพืชผักสวนครัวระหว่างต้นไม้ผล ส่วนคลองไส้ไก่ หรือที่อยู่ในพื้นที่ร่มบางส่วนเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน และสมุนไพรที่จำเป็น


หนองที่ 1 โคกที่ 1
มีมะม่วงเขียวเสวย 30 ต้น และมะม่วงแก้วขมิ้น 20 ต้นเป็นไม้หลัก กล้วยน้ำหว้า และมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชรอง ส่วนแค มะละกอ มะเขือ พริก ขิง ข่า ตะไคร้ กำลังเสริมการปลูกให้เต็ม เมื่อหมดฤดูฝนจะมีผักปลูกระหว่างไม้หลักับไม้รองให้ทั่วบริเวณ
กิจกรรมชั่วโมงจิตอาสา จะมีนักเรียนมาช่วยในแปลงตามความเหมาะสม ผู้ดูแลหลัก เป็นชาวบ้านผู้หญิงที่ว่างงาน 6 คนมาช่วยดูแลแปลงผัก และวัวควายอีกประมาณ 18 ตัวซึ่งโยมแม่จะดูแลอีกแรง
การปรับปรุงดินจะเน้นทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และเศษผักผลไม้ที่ทางโรงเรียนจัดทำอาหารกลางวันฟรีให้กับนักเรียนเป็นเวลา 11 ปีที่ผ่านมา จึงหาวิธีกำจัดขยะให้เป็นประโยชน์ด้วยการใช้จุลินทรีย์หมักทำเป็นปุ๋ยไปใส่ในแปลงนา

หนองที่ 2 โคกที่ 2
เป็นบ่อดักน้ำที่จะมาทางทิศตะวันตกของวัดเตรียมมะขามหวาน 60 ต้นเป็นไม้หลัก และรอบบริเวณรั้ววัดทางทิศใต้จะปลูกไผ่ยักษ์น่าน กับไผ่พื้นบ้านบังลมพายุที่จะมาหน้าฝน
มีนพต.8 คนที่ พช.จ้างมาช่วยงานวัด 3 เดือนช่วยดูแลร่วมกับคนงานผู้หญิงในวัดกับโยมแม่ช่วยกันปลูกยังไม่ทันหาไม้แซม เพราะฝนตกบ่อยทำงานยังไม่ได้

หนองที่ 3 โคกที่ 3
เป็นหนองที่ติดกับหนองที่ 2 และติดกับแปลงนาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดซึ่งเป็นที่รับน้ำทั้งที่มาจากตะวันตก และมาจากทางทิศเหนือ หนองนี้วางแผนจะปลูกลิ้นจี่ ลำใย กระท้อน มะกรูด มะนาว จะหาที่ว่างสลับลงในแต่ละแปลง

หนองที่ 4-6 โคกที่ 4-6
เป็นแปลงที่อยู่ฝั่งตะวันออกสุดของวัด พื้นที่ด้านล่างเป็นหินไม่สามารถขุดลงลึกได้ แต่เป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำจากแปลงพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ที่อยู่ทางทิศเหนือของวัด หากน้ำเต็มจะไหลไปลงที่หลังโรงเรียน และไหลมาลงที่โซนนี้เป็นหลัก
3 หนองนี้ทดลองปลูกทุเรียนจำนวน 50 ต้นเป็นพืชหลัก มีกล้วยรอบบริเวณวัด และพริกไทย สลับไปตามต้นไม้หลัก

อาคารฐานการเรียนรู้ 9 หลัง
มีกิจกรรมการให้ความรู้ อบรมประชาชน หรือรองรับประชาชนมาพักในบริเวณแปลงทางวัดได้ออกแบบอาคารขนาด 8 x 7 เมตร ตั้งคู่กันโดยเว้นช่องห่าง 3 เมตร เป็นฐานการเรียนรู้แฝด 9 ฐานการเรียนรู้ กำลังจะดำเนินการก่อสร้างโดยชาวบ้านที่ทำงานประจำในวัดเพราะเป็นช่างฝีมือ ทำงานก่อสร้างได้ระหว่างรองานติดตั้งโซลาร์เซลล์ และยังได้ทำบ้านดินเป็นฐานการเรียนรู้จริงเพื่อเป็นที่พักรับรองอีก 1 หลังพึ่งจะเริ่มดำเนินการ


และยังมีนักเรียนเข้ามาช่วยในชั่วโมงจิตอาสาในการสร้างบ้านดินแบบกระสอบดินที่วัดได้เคยก่อสร้างมาก่อนหน้านี้
โคก หนอง นา วัดป่าศรีแสงธรรม มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดลงในแปลงอันเป็นผลจากการจัดการเรียนการสอนภายในห้องเรียนที่โดดเด่นในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และยังได้มีการใช้ระบบการควบคุมสั่งการผ่านมือถือเข้ามาช่วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายในแปลงเช่นจ้างคนดูแลรดน้ำต้นไม้ในหน้าแล้งวันละ 300 บาท 5 คนก็เดือนละ 30,000 บาท หากวางระบบท่อ วางระบบโซลาร์เซลล์ และใช้โปรแกรมควบคุมสั่งการอัตโนมัติด้วยความชื้นในดิน หรือใช้ timer มาเปิดปิดน้ำเอง ก็จะประหยัดไปได้เยอะ เพราะการทำโคกนั้นย่อมอยู่ที่สูง ถ้าปลูกป่าแล้วต้นไม้ต้องการน้ำ เราขุดหนองก็อยู่ที่ต่ำ หากจะวางคลองไส้ไก่เข้าไปให้ความชุ่มชื้นปริมาณน้ำย่อมไม่เพียงพอ ถ้าปล่อยไว้ไม่รดน้ำต้นไม้คงเดินลงไปกินน้ำไม่ได้แน่ ไหนๆ เราก็มีความรู้อยู่แล้วเพราะเด็กสามารถต่อปั๊มน้ำเองได้ เขียนโปรแกรมเองได้ เพียงแต่เราสนับสนุนอุปกรณ์ก็ย่อมจะเป็นการต่อยอดเกษตรกรให้เป็น Smart farmer ขึ้นไปอีกขั้น
นี่เพียงตัวอย่าง ของจริงมีมากกว่านี้

การทำกสิกรรมที่ไม่พึ่งพาธรรมชาติ เพียงอย่างเดียวรู้จักกักน้ำไว้ใช้ แต่ไมทำลายธรรมชาติ เป็นกสิกรรมธรรมชาติและเทคโนโลยีรวมกันอยู่ที่นี่
โคกอีโ่ด่ยวัลเลย์